วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

ขู่ตัดสิทธิผู้ค้าจตุจักร เมินม็อบ-ชี้13มี.ค.ต้องทำสัญญา

เป็นกระทู้ที่พูดคุยถึงข่าวที่กำลังดังในขนาดนี้

เนื้อหาข่าว

ชัจจ์ เมินข้อเสนอม็อบผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ยันตัดสิทธิดึงรายใหม่เสียบแทนแน่ หากไม่ทำสัญญากับ ร.ฟ.ท. ภายใน 13 มี.ค. มั่นใจการเมืองอยู่เบื้องหลังกลุ่มป่วน ลั่นล้างมาเฟียภายใน 1 ปี พบผู้ค้าเดิมกว่า 250 ราย ทยอยทำสัญญาใหม่แล้ว

ขณะที่ผู้ค้าบางส่วนยังก่อม็อบปิดถนน ขอจ่ายค่าเช่า 1 พันบาท ทำสัญญา 30 ปี

ตลาดนัดจตุจักรในยุคที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เข้าไปบริหารแทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงมีปัญหาวุ่นวายต่อเนื่อง ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องลดเงื่อนไขการเช่าในสัญญาใหม่ เพื่อเร่งทำสัญญากับกลุ่มผู้ค้าให้ได้โดยเร็วที่สุด

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (3 มี.ค.) ร.ฟ.ท. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะบริเวณกองอำนวยการภายในตลาดนัดจตุจักร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ค้าที่มาลงทะเบียนทำสัญญาเช่ากับ ร.ฟ.ท.อย่างถูกต้อง โดยมีผู้ค้าทยอยทำสัญญาเช่ากว่า 250 ราย

ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารออมสิน ได้ตั้งบูธให้บริการผู้ค้าที่ใช้สิทธิลงทะเบียน สามารถทำสัญญาเงินกู้ค้าขายได้ โดยธนาคารกรุงไทยให้สินเชื่อขั้นต่ำ 50,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน หากมีผู้ค้ำประกัน 2 ราย จะให้สินเชื่อวงเงินสูงสุดถึง 2 แสนบาท

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การทำสัญญาเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักร ผู้ค้าจะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3,562 บาท แบ่งเป็นค่าเช่าเดือนละ 3,157 บาท ค่าภาษีโรงเรือน 395 บาท และค่าบัตรชำระเงินกับธนาคารอีก 10 บาท โดยผู้ค้าไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและค่าค้ำประกันสัญญา รวมทั้งไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้า หลังทำสัญญาผู้ค้าจะได้รับมอบสมุดเล่มหน้าปกสีแดง ซึ่งแสดงถึงสิทธิการเป็นเจ้าของแผงค้า

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ได้อนุมัติให้เก็บค่าเช่าแผงในอัตราเดือนละ 3,157 บาท และผู้ค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าอีก 50,000 บาท รวมทั้งเงินค้ำประกันสัญญา 20,000 บาท แต่หลังจากกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ เพราะถูกผู้ค้าบางส่วนคัดค้าน ร.ฟ.ท.จึงได้ปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ตามข้อเรียกร้อง

ส่วนสัญญาเช่าจะมีอายุ 2 ปี จากเดิม 5 ปี เพราะ ร.ฟ.ท.จะใช้เวลาดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในตลาดให้ดีขึ้น และมีความทันสมัยสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่หลังจากสัญญาเช่าครบ 2 ปี กลุ่มผู้ค้ารายเดิมยังมีสิทธิค้าขายได้เช่นเดิม

ตัดสิทธิรายเดิมหากพ้นเส้นตาย

เชื่อว่าผู้ค้าจะรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ได้ ส่วนผู้ค้าที่ไม่เห็นด้วยคงต้องเจรจากันต่อไป โดยผู้ค้าสามารถลงทะเบียนเพื่อเช่าแผงค้าได้ที่กองอำนวยการจนถึงวันนี้ (4 มี.ค.) หรือที่อาคารสำนักงานใหญ่ ร.ฟ.ท. จนถึงวันที่ 13 มี.ค. หากผู้ค้ารายใดไม่แสดงความจำนงการต่อสัญญา จะถือว่าสละสิทธิ์การเป็นผู้ค้า นายยุทธนา กล่าว

ขณะที่ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หากผู้ค้ารายเดิมในตลาดนัดจตุจักรไม่มาลงทะเบียนต่อสัญญากับ ร.ฟ.ท.ภายในวันที่ 13 มี.ค.นี้ จะถือว่าสละสิทธิ์ และ ร.ฟ.ท. จะหาผู้ค้ารายใหม่เข้าไปเช่าแผงแทน ยืนยันว่าอัตราค่าเช่าแผงเดือนละ 3,157 บาท เป็นอัตราที่เหมาะสมและผู้ค้าส่วนใหญ่ยอมรับได้

หาก ร.ฟ.ท. ไม่เก็บค่าเช่าในอัตราใหม่ จะไม่มีเงินมาปรับปรุงตลาดจตุจักรให้มีความสะอาด ทันสมัย สะดวกสบายได้ ผมได้สั่งให้ร.ฟ.ท.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อดูแลช่วยเหลือกลุ่มผู้ค้าที่มีปัญหาในการขายสินค้า เช่น ที่ตั้งแผงอยู่ในทำเลไม่ดี หรือเป็นสินค้าที่ขายไม่ค่อยได้ เพื่อให้ผู้ค้ากลุ่มนี้อยู่ได้ เพราะถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดนัด เพื่อคงเอกลักษณ์ของตลาดนัดจตุจักรต่อไป พล.ต.ท.ชัจจ์ ระบุ

เขากล่าวอีกว่า มีผู้ค้าเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าเช่าใหม่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ หากยังไม่รับเงื่อนไขหรือต้องการจ่ายค่าเช่าแผงเพียงเดือนละ 1,000 บาท จะฝากให้ไปอยู่กับตลาดนัดของ กทม. ส่วนผู้ที่ต้องการทำสัญญาเช่า 30 ปี จะหาตลาดนัดใหม่ให้ เพราะอายุสัญญาเช่า 2 ปีเป็นเสียงส่วนใหญ่ เพื่อให้ ร.ฟ.ท. มีโอกาสปรับปรุงตลาดได้

ขอเวลา 1 ปี ล้างกลุ่มมาเฟีย

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มมาเฟียมาปิดแผงค้า ส่งผลให้ผู้ค้าหลายรายได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถขายสินค้าได้ รวมทั้งกลุ่มที่มาชุมนุมคัดค้านการขึ้นค่าเช่าแผงนั้น พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือไม่ใช่ผู้ค้าในตลาด และยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีการเมืองหนุนหลังแน่นอน 100%

ปัจจุบันยังมีกลุ่มนายทุนและกลุ่มมาเฟียบางกลุ่มก่อความวุ่นวายอยู่ โดยกลุ่มคนเหล่านี้เช่าแผงในราคาถูก แต่ปล่อยเช่าต่อในราคาแพง และส่วนใหญ่มีมากกว่า 1 แผง จึงเป็นสาเหตุที่เกิดความไม่สงบในตลาดนัดจตุจักร ผมจะปราบกลุ่มมาเฟียที่มาสร้างความปั่นป่วนให้หมดในเวลา 1 ปี พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าว

ด้าน นายเกษม โฆษานุธรรม ผู้ค้าของตกแต่งจากภาคเหนือ กล่าวว่า หลังจาก ร.ฟ.ท. ยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า เห็นว่าเป็นเงื่อนไขที่น่าจะรับได้ และหวังว่า ร.ฟ.ท.จะปรับพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรให้มีความทันสมัย สะดวกสบายมากขึ้น เพื่อสร้างชื่อเสียงตลาดนัดจตุจักรให้โด่งดังระดับโลก ขณะเดียวกันต้องการให้ ร.ฟ.ท.จัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่ใหม่ เพื่อให้เป็นผู้ค้าที่ถูกต้อง ไม่กระทบกับผู้ค้าที่ได้ลงทะเบียนไว้

ม็อบยังป่วนยื่นเงื่อนไขคุยนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ ร.ฟ.ท.เปิดให้ผู้ค้าลงทะเบียนทำสัญญาเช่าแผงค้า มีกลุ่มผู้ค้าบางส่วนที่ไม่พอใจอัตราค่าเช่าแผงเดือนละ 3,157 บาท ได้รวมตัวกันประมาณ 100 คน ชุมนุมบริเวณหอนาฬิกา ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปบริเวณทางเข้าประตู 3 หน้าตลาดนัดจตุจักร ถนนพหลโยธิน ตรงข้ามกับกรมการขนส่งทางบก และพยายามปิดทางเข้า-ออกบริเวณประตู 3 และปิดการจราจรบนถนนพหลโยธิน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลความเรียบร้อยได้ขัดขวาง และกั้นพื้นที่ถนนพหลโยธินเพื่อให้การจราจรสามารถเคลื่อนตัวได้ 1 ช่องทาง

ทั้งนี้ กลุ่มผู้คัดค้านได้ปราศรัยโจมตีและแสดงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับ ร.ฟ.ท. พร้อมยืนยันว่าจะไม่ยอมเจรจากับบุคคลใดนอกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยกลุ่มผู้ค้าที่ชุมนุมระบุว่า ต้องการให้ ร.ฟ.ท.ทำสัญญาเช่า 30 ปี และขอมีส่วนร่วมในการบริหารตลาดนัดจตุจักรร่วมกับ ร.ฟ.ท. รวมทั้งขอให้ ร.ฟ.ท.ยกเลิกการจัดเก็บค่าเช่าแผงเดือนละ 3,157 บาท โดยให้เก็บเดือนละไม่เกิน 1,000 บาทต่อแผง หาก ร.ฟ.ท. ไม่ทำตามเงื่อนไข กลุ่มผู้ค้าจะยังคงชุมนุมคัดค้านต่อไป

กทม.สอนมวยบริหารอย่ามุ่งฟันกำไร

นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษก กทม. กล่าวถึงกรณีผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรบางส่วนยังคงก่อม็อบปิดถนนว่า กทม.ไม่อยากก้าวล่วงวิจารณ์ แต่การที่ผู้ค้าประท้วง ร.ฟ.ท.ต้องรับทราบความต้องการของผู้ค้าและกำหนดวิธีการแก้ปัญหา ซึ่ง กทม.ขอเป็นกำลังใจให้ ร.ฟ.ท.ในการคลี่คลายสถานการณ์

ผลกระทบหลักคือเรื่องค่าเช่าแผงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้การตกลงระหว่างผู้ค้ากับ ร.ฟ.ท.เป็นอย่างไร กทม.ไม่ทราบ แต่เชื่อว่า ร.ฟ.ท.จะมีวิธีการและทางออกโดยให้ทุกฝ่ายเดินหน้าไปด้วยกันได้ทั้งหมด แต่หลักการบริหารของหน่วยงานภาครัฐจะมุ่งกำไรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเป็นบริการสาธารณะด้วย เมื่อมีเป้าหมายต่างกับเอกชนก็ต้องมีหลักคิดต่างกัน จะคิดเรื่องกำไรอย่างเดียวคงไม่ได้ โฆษก กทม.ระบุ

ที่มา

http://daily.bangkokbiznews.com/detail/48231

ความเห็นที่ 1

พึ่งรู้ว่าแต่ก่อนเช่าเดือนละพัน
เพื่อนผมเคยไปถามเช่า
เขาคิดเดือนละ 7000
แถมขายได้เฉพาะเสาร์อาทิตย์
กำไร 6000 สบายๆ

น่าจะกำหนดไปเลยนะครับ
ว่าให้ขายเองห้ามให้คนอื่นเช่าต่อ
ถ้าไม่ขายก็เอาคืน

ความเห็นที่ 2

ภาพประกอบ



ความเห็นที่ 3

ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าประท้วงขอแบบสมเหตุสมผลก็ว่าไปอย่าง
แต่นี่อะไร ขอจ่ายค่าเช่าแค่พันเดียว มันเอาเปรียบรัฐเกินไป
สงสัยจริงๆ ว่า เขาขายอะไรกัน แค่ค่าเช่าสามพันกว่า ถึงเดือดร้อนกันขนาดนั้น

ความเห็นที่ 4

อยากให้มีมีการทำสัญญาของผู้เช่า ระบุว่า ผู้เช่าต้องเป็นผู้ขายเองห้ามให้คนอื่นมาเช่าต่อ

ตามไปดูต่อที่

http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE11786417/NE11786417.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น